http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน

บทความ

CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

สำหรับคนในองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) มาระยะหนึ่ง วันนี้ยังต้องศึกษาและเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) เพิ่มเติม เพื่อที่จะตอบคำถามหรืออธิบายให้ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจได้ว่า เรื่องทั้งสองนี้ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกันหรือไม่
เรื่องการกำกับดูแลกิจการ หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทภิบาล เป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่จัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง
ในประเทศไทย หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศเผยแพร่นั้น มีอยู่ด้วยกัน 5 หมวด ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
หลักการกำกับดูแลกิจการทั้ง 5 หมวดนี้ หมวด 1 และหมวด 2 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น หมวด 4 และหมวด 5 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ซึ่งทั้งผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการ ขณะที่หมวดที่ 3 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียจากบริษัทตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ
การดำเนินงานของกิจการซึ่งมีเป้าหมายที่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร คณะกรรมการ หรือพนักงาน (คือ ผู้มีส่วนได้เสียในกิจการ) เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ภายในองค์กร ซึ่งจัดอยู่ในหัวข้อการกำกับดูแลกิจการภายในให้มีความโปร่งใส สามารถให้สังคมภายนอกตรวจสอบได้

ส่วนการดำเนินงานของกิจการซึ่งมีเป้าหมายที่ครอบครัวของพนักงาน ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งขัน และประชาชนทั่วไป (คือ ผู้มีส่วนได้เสียนอกกิจการ) เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ภายนอกองค์กร ดังนั้น กิจการใดที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีอยู่แล้ว ถือว่าได้มีส่วนในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ด้วย
ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือที่เรียกว่า บรรษัทบริบาล เป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่องค์กรจัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

บรรษัทบริบาล จึงเป็นการดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนิติพลเมือง (Corporate Citizen) โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกกิจการอย่างเป็นธรรม

หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยกร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกิจการทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 8 หมวด ได้แก่ 1) การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2) การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม 3) การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 4) ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 5) การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 6) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 7) นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และ 8) การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
 กล่าวได้ว่า เรื่องการกำกับดูแลกิจการ (CG) จะมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ
 1) เป็นเรื่องของการนำหลักคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะต้องปลูกฝังให้เกิดกับบุคลากรในองค์กร มาเป็นฐานแห่งการพัฒนาระบบและกระบวนการภายในองค์กรสำหรับใช้กำกับดูแลการดำเนินงานของบุคลากรเพื่อให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม จริยธรรม
 2) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด
 3) มุ่งหมายให้กิจการมีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง สังคมภายนอกตรวจสอบได้

ขณะที่เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) จะประกอบด้วยคุณลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับ CG อยู่ 3 ประการ คือ
1) เป็นเรื่องของการคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักศีลธรรม หรือการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ซึ่งองค์กรใช้เป็นแนวการดำเนินงานที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก โดยมีฐานที่พัฒนาขึ้นจากกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี
2) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย และการดูแลผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย
 3) มุ่งหมายให้กิจการมีขีดความสามารถในการสร้างคุณค่าร่วมจากการส่งมอบประโยชน์ให้แก่กิจการและสังคมส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

จากบทเรียนในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง พบว่า องค์กรจะไม่สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายนอกให้ประสบผลสำเร็จหรือก้าวหน้าได้ หากปราศจากการกำกับดูแลกิจการภายในที่ดีและเข้มแข็ง หรืออีกนัยหนึ่ง ธุรกิจทำ CSR โดยละเลยเรื่อง CG มิได้

ที่มา : http://pipatory.blogspot.com/2012/06/cg-csr.html

aphondaworathan