http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ความสำคัญในการทำ CSR (ตอนที่ 1)

บทความ

 

ความสำคัญในการทำ CSR (ตอนที่ 1)

แนวคิดทางธุรกิจเรื่อง CSR นั้นเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลกมากขึ้น โดยในการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2542 นาย Ko? Annan เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมกับ 5 หน่วยงานของ UN (ILO, UNDP, UNEP, UNCHR, UNIDO) และภาคธุรกิจ ได้ออกบัญญัติ 9 ประการ ที่เรียกว่า “The UN Global Compact” ซึ่งแบ่งเป็น 3 หมวดหลัก  คือ หมวดสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน  และสิ่งแวดล้อม  และต่อมาได้เพิ่มบัญญัติที่ 10  คือ  หมวดการต่อต้านคอร์รัปชั่นไว้ด้วย  ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจจากทั่วโลกเป็นสมาชิกของ UN Global Compact รวม 1,861 บริษัท (เป็นบริษัทในประเทศไทย 13 บริษัท) และเมื่อเดือนกันยายน 2547 International Organization for Standardization (ISO) ได้ตกลงร่วมกันที่จะร่างมาตรฐาน “ISO-Social Responsibility”  เพื่อให้การรับรององค์กรธุรกิจที่สามารปฏิบัติตามแนวคิด CSR  ซึ่งองค์กรที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานดังกล่าว  จะเป็นการช่วยเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าหรือบริการขององค์กร และยังช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการซื้อสินค้าหรือบริการขององค์กรนั้น ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่า  หากองค์กรใดไม่ปฏิบัตตามแนวคิด CSR  อาจเกิดปัญหาในการทำการค้ากับกลุ่มประเทศ/บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวนี้

ในประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกันที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก CSR  มากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และมีความคาดหวังจาก Supplier ว่าต้องมีมาตรฐาน CSR  ด้วย  อย่างเช่น  เมื่อเดือนมีนาคม 2552  ที่ผ่านมา  นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  ได้แนะนำผู้ทำธุรกิจการค้าไทยว่าควรที่จะนำมาตรการดูแลสังคม  หรือ CSR  ด้านการจัดการ Supply Chain  ไปปฏิบัติกับบริษัทคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ  เพราะขณะนี้สภาการค้าต่างประเทศญี่ปุ่นได้เห็นชอบให้นำมาตรการ CSR ด้านการจัดการ Supply Chain มาใช้แล้ว โดยกำหนดให้ต้องดำเนินการใน 7  เรื่อง  อาทิ  การเคารพสิทธิมนุษยชนของลูกจ้าง  การป้องกันการกดขี่ข่มเหงแรงงาน การรักษาความปลอดภัย สุขลักษณะและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีแก่ลูกจ้าง  ซึ่งการกำหนด CSR ด้านการจัดการ Supply Chain  เกิดจากการที่คณะกรรมการศึกษามาตรการ CSR ของสภาการค้าต่างประเทศญี่ปุ่นได้วิจยแนวโน้มการปฏิบัติตามมาตรการ CSR  ของอุตสาหกรรมทั้งภายในและต่างประเทศ  โดยสำรวจความคิดเห็นบริษัทต่างๆ  รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง  และพบว่ากลุ่มบริษัทการค้าของญี่ปุ่นได้เริ่มนำมาตรการ CSR ด้านการจัดการ Supply Chain มาปฏิบัติ จนนำมาสู่การกำหนด 7 มาตรการดังกล่าว เป็นต้น

จากการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับการรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมของสถาบันคีนันแห่งเอเชียร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์พบว่าผู้บริโภค 60%  เลือกที่จะซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม  สิ่งแวดล้อม  ความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้า  หรือช่วยระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสังคม นอกจากนั้น 59% ยังแสดงความต้องการที่จะซื้อสินค้าและบริการที่รับผิดชอบต่อสังคม  แม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มก็ตาม 73% จะเลือกซื้อจากบริษัทที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป และ 87% ยังจะแนะนำสินค้าบริการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้ครอบครัวและญาติพี่น้อง

การที่บริษัทต่างๆ  ให้ความสำคัญกับการปฎิบัติตามหลัก CSR นั้น ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้เป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นการทำให้สังคมยอมรับ  ทั้งกับผู้บริโภค supplier  หรือแม้กระทั่งคู่แข่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัท  การที่บริษัทดำเนินกิจการโดยใส่ใจกับสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น  ย่อมส่งผลให้บริษัทสามารถได้รับโอกาสจากประชาชน  แม้ในยามภาวะวิกฤตร้ายแรงก็ตาม  รวมทั้งบริษัทยังสามารถเข้าไปศึกษาหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน กลไกต่างๆ ของรัฐอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มบริษัทที่ไม่สนใจผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะโดนมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ประชาสังคม และจากต่างประเทศในการยอมรับสินค้านั้นๆ

การทำ CSR  ยังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน  และสร้างจุดยืนทางการตลาดแก่ธุรกิจด้วย  ซึ่งในประเทศอังกฤษ  92%  ของผู้บริโภคเชื่อว่า  บริษัทควรมีมาตรฐานแรงงานสำหรับ supplier ด้วย  และ 14%  กล่าวว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้าของตนซึ่งแนวคิดเช่นนี้กำลงแผ่ขยายไปทั่วโลกในการวิจัยด้านทัศนคติของผู้บริโภคต่อการรับผิดชอบต่อสังคม  ได้ ทำการวิจัยกลุ่มคนกว่า 25,000 คน ใน 26 ประเทศ (งานวิจยโดย IpsosMori) พบวาผู้บริโภคส่วนใหญ่พัฒนาความคาดหวังและความประทับใจต่อบริษัทต่างๆ  มาจากปัจจัยด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทมากกว่าการสร้างตราสินค้า (brand) หรือความสำเร็จทางการเงินของบริษัทนั้นๆ

 

 

ที่มา: http://www.csri.or.th/knowledge/csr/190  /  สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม Corporate Social Responsibility Institute (CSRI)

aphondaworathan