http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

จิตอาสาคืออะไร โดย: ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ

บทความ

 

จิตอาสาคืออะไร  โดย: ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ

ตั้งแต่ครั้งที่คลื่นยักษ์สึนามิถาโถมทำคนล้มตายเป็นพันในประเทศไทยในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นเหตุให้คนทั่วโลกทั้งไทยเทศเศร้าโศกเสียใจกัน....ปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้ประหลาดใจคนทั่วไปอีกเช่นกัน นั่นคือ ความงดงามของจิตใจผู้คนทั้งหลาย ที่ทนไม่ได้กับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ แต่ละคนพยายามหาทางช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะทางไหนที่ทำได้ ตั้งแต่การบริจาคทรัพย์ สิ่งของ หรือแม้แต่เอาตัวลงไปเป็น.......อาสาสมัครช่วยเหลือกันเท่าที่จะทำได้ โดยไม่แยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือชนชั้น นับเป็นความงดงามที่หลายคนนึกว่ามนุษย์ยุคนี้ไม่มีเหลือแล้ว

ในประเทศไทยมีอาสาสมัครนับพัน นับหมื่นคนหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปช่วยเหลือเรียนรู้กับผู้ประสบภัยสีนามิ จนเกิดเป็นคลื่นมวลชนจิตอาสา ทำงานต่อเนื่องกันมาถึงในปัจจุบันและขยายเครือข่ายขยายงานอาสาทำดีเพื่อสังคมชัดขึ้น เพื่อระลึกถึงความดีงามที่ผุดขึ้นมาจากมวลชนหลากหลายตั้งแต่วันนั้น จึงกำหนดวันที่ ๒๗ ธันวาคม ของทุกปีเป็น วันจิตอาสาเพื่อเตือนใจและส่งเสริมให้พวกเราแต่ละคนทำดีกันต่อไป อาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันต่อไป ขยายผลต่อไปในรูปแบบต่างๆ

ภาคธุรกิจเอกชน นับเป็นเพื่อนที่สำคัญไม่น้อยในการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคม โดยเฉพาะในยามวิกฤต ภาคธุรกิจคือภาคที่ภาคส่วนอื่นอาจเห็นว่าเป็นภาคที่ทำเพื่อตัวเองเป็นส่วนใหญ่ หากำไรก็เข้าตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อสังคม หรือเพื่อผู้อื่นเหมือนเพื่อนในภาคสังคม หรือภาคราชการ แต่ในวันนั้นจวบจนวันนี้เป็นบทพิสูจน์ชัดเจนว่าคนในภาคธุรกิจเอกชน ก็เป็น คนเหมือนกับภาคอื่นๆ แถมหลายคนยังมีทรัพยากรเงิน ทรัพยากรสิ่งของ และทรัพยากรความรู้มากมายอีกด้วยซ้ำ กระแส CSR: Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจต่างๆที่เกิดขึ้นมามากเป็นพิเศษในช่วงสองปีนี้ทั้งในและต่างประเทศ ก็สอดคล้องล้อตามกันมา กูรูหรืออาจารย์ดังระดับโลกต่างๆ ก็ออกมาคุยกันชัดๆในมิติการอยู่อย่างยั่งยืนและสมดุล ภาพจิ๊กซอว์เหล่านี้ต่อกันออกมาเห็นเป็นกระแสธารใหญ่ ที่อาจจะกลายเป็นกระแสหลักในอนาคตได้ เพราะเป็นกระแสของความจำเป็น เป็นกระแสของความต้องการพื้นฐานแท้จริงของเราชาวมนุษย์

จิตอาสาคืออะไร

หลายคนช่วยกันนิยามคำนี้กันตามที่รู้สึกมาจากส่วนลึก ไม่ว่าจะพูดกันอย่างไร ก็ชี้กันไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อวันก่อนที่เวทีวิจัยเรื่องการให้และอาสาสมัคร จัดโดย UNDP, กระทรวงพัฒนาสังคมฯ, บ.บางจาก (มหาชน) และเครือข่ายจิตอาสา มีคนมาจากหลายภาคส่วนคุยกันระดมสมองกันในเรื่องจิตอาสาและการขับเคลื่อนในสังคมไทย ผู้เขียนนั่งอยู่กันกลุ่มแบ่งย่อย กลุ่มศาสนา ซึ่งมีตัวเแทนศาสนาต่างๆ มีทั้งบาทหลวงศาสนาคริสต์ ตัวแทนสตรีและเยาวชนมุสลิม ศาสนาพุทธเถรวาท ศาสนาพุทธฉือจี้ และสันติอโศก ไม่ว่าจะมาจากศาสนาใดใด คุยกันสอดคล้องไปในทำนองเดียวกัน เหมือนนักดนตรีคนละวงเล่นดนตรีแจมกัน เป็นเพลงไพเราะงดงาม สอดประสานกันเป็นสังคมสมานฉันท์ที่แท้จริง เราคุยกันสอดคล้องถึงความเมตตาที่จะให้ผู้อื่น ให้แบบอ่อนน้อม

ไม่ใช่ให้แบบผู้อยู่เหนือกว่าให้ผู้ด้อยกว่า แต่เป็นการให้โดยสละตัวตนของเราออกไปด้วยการทำงานช่วยเหลือให้บริการผู้อื่นจากใจในขณะที่ขัดเกลาจิตใจตัวเองกันไปด้วย เป็นจิตอาสาที่จะทำให้สังคมและผู้อื่นมีความสุข ผู้รับเองก็เป็นผู้ให้ไปในตัว อย่างน้อยก็เป็นผู้ทำให้ผู้ให้ได้ให้และมีความปลื้มปิติที่ได้ทำสิ่งดีดี สรุปโดยย่อ จิตอาสา คือจิตที่ต้องการให้ผู้อื่น ตั้งแต่การให้เงิน ให้ของ จนกระทั่งให้แรงงานแรงสมองหรือที่เรามักเรียกว่า อาสาสมัคร เพื่อช่วยให้ผู้อื่นหรือสังคมมีความสุขมากขึ้น การให้หรือเสียสละนี้สามารถทำไปได้จนถึงการเสียสละความเป็นตัวตนหรืออัตตาของเรา ลงไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือสังคมมากขึ้น จากภาคธุรกิจในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสงเคราะห์เบื้องต้นเช่น การบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของให้ผู้ประสบภัยหรือผู้ที่ต้องการ บางองค์กรก็รณรงค์เรื่องดีดีต่างๆ เป็นต้นว่าถนนสีขาว บางองค์กรมีนโยบายเอื้อให้พนักงานและผู้บริหารของตนทำงานอาสาช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อนุญาตให้พนักงานทำงานเป็นอาสาสมัครได้โดยไม่ถือเป็นวันลา ๑๐ วัน เหมือนกับทางภาคราชการที่ตอนนี้กำหนดออกมาเป็นกฎใช้กันทั่วไปแล้ว หรือบางองค์กรสร้างงานเอง อาจเริ่มจากการมองเห็นประเด็นสังคมใกล้ตัวที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเก็บข้อมูล เรียนรู้ความต้องการแท้จริงของชุมชน หรือปัญหาที่เกิดขึ้น บางที่ทำงานร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์มืออาชีพ บ้างทำงานกับองค์กรสาธารณประโยชน์ชนิดต่างๆ (CSOs, NGOs, NPOs) ที่ทำงานช่วยเหลือสังคมอยู่เป็นงานหลักอยู่แล้ว เพื่อจะได้ไม่ไปช่วยเหลือผิดทาง แทนที่จะสร้างอาจกลับไปทำลายความสามารถหรือวิถีชุมชนของพื้นที่ที่อยากไปช่วยเหลือ บางองค์กรก็ทำจนครบวงจรแก้ปัญหาได้ในระยะยาว เช่น โครงการรักบ้านเกิด (DTAC) และโครงการเสื้อสมานฉันท์ (แตงโม)เหล่านี้ล้วนเป็นงานจิตอาสาในรูปแบบต่างๆทั้งสิ้น พวกเราท่านใดจะเริ่มจากการเอาตัวไปเป็นอาสาสมัครก่อนก็จะได้พัฒนาตัวและใจไปพร้อมกับการช่วยเหลือผู้อื่นได้ เมื่อเอาตัวลงไปเราอาจจะค้นพบอะไรในสังคมมากขึ้น อาจจะค้นพบอะไรในใจเราเองมากขึ้น อาจจะค้นพบคุณค่าความงดงามในจิตใจใครต่อใครมากขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาหรือเงินมากมายอะไร แค่ลงมือเท่านั้น ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน

 http://www.volunteerspirit.org/, http://www.ngobiz.org/,

http://www.give2all.com/, http://www.siamvolunteer.com/,

 http://www.budnet.info/

และนี่เป็นของขวัญให้กับผู้อ่านทุกท่าน สุขสันต์ยิ่งขึ้นด้วยการให้และอาสาเพื่อสังคม

 

ที่มา: http://www.vachiraphuket.go.th/www/volunteer/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4

 

 

 

aphondaworathan