http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ถอดบทเรียน 7 ปี "SCG รักษ์น้ำ" สร้างฝายชะลอน้ำถึงฝายในใจคน

บทความ

ถอดบทเรียน 7 ปี "SCG รักษ์น้ำ" สร้างฝายชะลอน้ำถึงฝายในใจคน

แม้โครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี จะมีอยู่หลายด้าน แต่หากถามถึงโครงการที่สร้างอิมแพ็กต์ต่อสังคมได้อย่างกว้างขวางและถือเป็นซีเอสอาร์ที่โดดเด่นของเอสซีจี คงมีชื่อของ "โครงการ SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต" อยู่ในลำดับต้น ๆ

เพราะไม่เพียงจะเป็นโครงการที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำได้เกินเป้าหมายในแต่ละปี เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับคนต้นน้ำซึ่งส่งผลไปถึงคนปลายน้ำแล้ว ยังสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่าให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน สร้างจิตสำนึกให้เกิดกับผู้มีจิตอาสาที่เข้าไปร่วมสร้างฝายซึ่งมีตั้งแต่พนักงาน คู่ค้า นักเรียนนักศึกษา สื่อมวลชน รวมไปถึงอาสาสมัครอื่น ๆ กว่า 35,000 คน

"ถึงขณะนี้สามารถสร้างฝายร่วมกับชุมชนได้แล้ว 16,000 ฝาย และตั้งเป้าจะสร้างให้ครบ 20,000 ฝายภายในปีนี้" นั่นเป็นความสำเร็จและภารกิจที่ "กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ประกาศในงานแถลงข่าว "SCG 96 ปี : 8 รอบแห่งความยั่งยืน" ที่จัดขึ้นไปไม่นานนี้ นอกเหนือจากเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านอื่น

โครงการ SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต เริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 จากเหตุผลที่เอสซีจีต้องการค้นหากิจกรรมเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี 2550 และมองเห็นว่า "น้ำ" เป็นกุญแจสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

ตามคำกล่าว "น้ำคือชีวิต" จึงส่งทีมงานเข้าไปศึกษาการอนุรักษ์น้ำที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อตามรอยพระราชดำริและนำมาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อเผยแพร่จิตสำนึกและวิธีการอนุรักษ์น้ำสู่ชุมชน

และได้ค้นพบหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ ซึ่งก็คือการสร้างฝายชะลอน้ำ ที่ต่างจากเขื่อนกักเก็บน้ำทั่วไป แต่เป็นเขื่อนที่ช่วยชะลอความชุ่มชื้นในผืนดินและกลายเป็นสิ่งตั้งต้นสำคัญต่อเมล็ดพันธุ์ที่รอการเติบโต

ช่วงของการเสวนา ในหัวข้อ "ถอดบทเรียนอนุรักษ์น้ำสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน" มีผู้ร่วมเสวนาเป็นคนในพื้นซึ่งจะมาถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จและคุณค่าที่ได้มากกว่า "เพียง" การสร้างฝายชะลอน้ำ

"ร.ต.ชัย วงษ์ตระกูล" ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำจาง อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เล่าว่า ในช่วงที่หมู่บ้านสามขาเกิดวิกฤตน้ำในการทำการเกษตร จึงได้รับคำแนะนำจากเอสซีจีให้ไปดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ผู้ใหญ่หลายคนไม่คิดว่าจะสามารถกลับมาทำในพื้นที่ตนเองได้ ต่างจากเด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่ได้รวมตัวกันสร้างฝายขึ้นมาและส่งแรงกระตุ้นไปยังผู้ใหญ่ที่เริ่มเห็นความสำคัญ เพราะเห็นความหวงแหนที่มีต่อฝายของเด็ก

"ถึงขณะนี้สร้างฝายได้กว่า 6 พันฝาย เห็นความเปลี่ยนแปลงคือป่ามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น มีอาหารเกิดขึ้นจากป่า มีน้ำ มีปลา ไฟป่าลดลง ที่สำคัญได้สร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวของจำนวนคณะกรรมการไฟป่า ซึ่งสื่อให้เห็นว่าพวกเขาเห็นความสำคัญของป่าหลังจากมันอุดมสมบูรณ์ขึ้นเพราะฝาย"

และเกิดการรวมตัวในการทำงานเพื่อชุมชน โดยในอีกไม่นานนี้จะมีการต่อยอดทำพื้นที่เป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและทำโรงงานผลิตน้ำดื่มของชุมชน

เช่นเดียวกับ "หนานชาญ อุทธิยะ" ผู้ประสานงาน สถาบันแสนผะหญา (สกว.) จ.ลำปาง เล่าว่า แม้ในช่วงแรกจะไม่ไว้ใจนัก แต่เมื่อได้มีการทดสอบบางอย่างก็เห็นความตั้งใจจริงของเอสซีจีที่ตรงกับแนวคิดของตนเองที่เป็นการให้ ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการช่วยสนับสนุนส่งเสริมและฟังเสียงของชาวบ้านมากกว่า ทำตามความต้องการของตนเอง ทำให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตนเองและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

นับจำนวนฝายไม่ถ้วนที่หนานชาญได้พาผู้คนขึ้นไปสร้างฝายแล้วได้จิตสำนึกกลับมา จนเป็นประเพณีไปแล้วที่คนในชุมชนเลือกการสร้างฝายเป็นการทำบุญในวาระต่าง ๆ เช่น วันเกิดหรือปีใหม่

ขณะที่คนในฟากธุรกิจอย่าง "ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล" ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า ทุกปีเราจะกลับไปเยี่ยมและดูแลฝายเพราะเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราสร้างขึ้นมาและมีการขยายผล เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่เพียงการสร้างถาวรวัตถุ แต่เป็นการสร้างสิ่งที่มองไม่เห็น คือความร่วมมือร่วมแรงของคนในสังคม ที่เรียกว่าการสร้างฝายในใจคน ซึ่งจะทำให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็งได้ในอนาคตและเป็นประโยชน์มหาศาล

ฝายชะลอน้ำ จึงสามารถนำป่ากลับมาโดยไม่ต้องปลูก นำแหล่งอาหารกลับคืนสู่ชุมชน นำลูกหลานที่เคยจากท้องถิ่นกลับมาทำมาหากินในพื้นที่ และเป็นบ่อเกิดของความสามัคคีและปลูกจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน หากหน่วยงานใดสนใจสามารถติดต่อเข้าไปศึกษาดูงานได้ในพื้นที่สร้างฝายในจังหวัดลำปาง ที่เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และมีประสบการณ์ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับผู้สนใจ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

aphondaworathan