http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

อาเซียนไม่ได้มีแต่ AEC โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

บทความ

อาเซียนไม่ได้มีแต่ AEC  โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ในการประชุมผู้นำอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ได้มีการร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 (Bali Concord II) เห็นชอบให้อาเซียนรวมตัวกันเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันภายในปี 2563

ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนมกราคม 2550 ที่ประชุมผู้นำอาเซียนได้ตกลงร่นระยะเวลาการจัดตั้งประชาคมอาเซียนจากกำหนดเดิมในปี 2563 เป็นให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

ประชาคมอาเซียนที่จะจัดตั้งขึ้น ประกอบด้วยสามเสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community: ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการให้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน

สำหรับการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรม หรือ ASCC อาเซียนได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint) โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้ให้การรับรองแผนงานฯ หรือพิมพ์เขียวฉบับดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือใน 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และการลดช่องว่างทางการพัฒนา

ในพิมพ์เขียวด้านสิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights) ได้ระบุถึงมาตรการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Promoting CSR) ที่มีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ ผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกเอาเรื่อง CSR ไว้ในวาระการดำเนินงานขององค์กร และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในเชิงเศรษฐกิจ-สังคมในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน

จะเห็นว่า เรื่อง CSR ได้ถูกบรรจุให้เป็นมาตรการหนึ่งในแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และมุ่งหวังให้ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการนำ CSR ไปผนวกกับการดำเนินงานขององค์กรตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล ดังนั้น ภาคธุรกิจที่ต้องการขยายตลาดเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ-สังคมที่ยั่งยืนควบคู่กันจากนี้ไป

 

ที่มา: http://pipatory.blogspot.com/

 

 

aphondaworathan