http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 1)

บทความ

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 1)

โดย ไทยแลนด์อินดัสตรี้ดอทคอม

 กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์  kitroj@yahoo.com

ในปัจจุบันความสนใจในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมได้ขยายตัวอย่างมากในทุก ๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยงานของภาครัฐ หรือเอกชน ต่างก็ให้ความสนใจ และดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่แสดงถึงความใส่ใจ ห่วงใย ช่วยเหลือ และพัฒนาสังคม ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งสังคมภายในองค์กร สังคมโดยรอบข้าง สังคมระดับประเทศ และสังคมโลก

นับตั้งแต่มีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ รวมถึงแนวความคิดเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม และการประกาศ The UN Global Compact ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินการในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ การประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติด้าน CSR และการติดต่อกับคู่ค้าที่มีการปฏิบัติ CSR ด้วยกันขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขยายตัวออกไปในวงกว้างมากขึ้น และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

พัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นที่มองว่าความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือการบริจาคสิ่งของต่าง ๆ หรือความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับชุมชนและสังคม ไปจนถึงการขยายมุมมองของความรับผิดชอบต่อสังคม ออกไปในอีกหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม แรงงาน และผู้บริโภค มีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (SR Reporting) ในรูปแบบต่าง ๆ การกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินการ ไปจนถึงการจัดทำเป็นมาตรฐานสากลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดย ISO ที่เรียกว่ามาตรฐาน ISO 26000

มาตรฐาน ISO 26000

มาตรฐาน ISO 26000 เป็นมาตรฐานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดย ISO (the International Organization for Standardization) เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับองค์กรต่าง ๆ ในการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นกับองค์กร ซึ่งมาตรฐานนี้ จะมีลักษณะเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงาน (Guidance) ไม่ใช่ข้อกำหนด (Requirements) ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะขอการรับรองได้ เหมือนกับมาตรฐาน ISO 9001 (ระบบริหารคุณภาพ) หรือมาตรฐาน ISO 14001 (สิ่งแวดล้อม)มาตรฐาน ISO 26000 นี้ จัดทำขึ้นโดยผู้แทนของประเทศสมาชิกของ ISO ทั้งที่เข้ามามีส่วนร่วมและสังเกตุการณ์กว่า 99 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจากประเทศไทย ครอบคลุมตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มหน่วยงานของรัฐ กลุ่มแรงงาน กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และกลุ่มงานบริการ งานสนับสนุน งานวิจัยและอื่น ๆ ร่วมกับผู้แทนจากองค์กรพันธมิตร (Liaison Organization) ทั้งหมด 42 องค์กร รวมถึงจากคณะทำงานอื่น ๆ ของ ISO ได้แก่ คณะทำงานด้าน Ergonomic (ISO/TC 159) คณะทำงานด้าน Assistive Products for Persons with Disability (ISO/TC 173) คณะทำงานด้านการบริหารคุณภาพและการประกันคุณภาพ (ISO/TC 176) และคณะทำงานด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO/TC 207) โดยมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤจิกายน 2553 (2010)

มาตรฐาน ISO 26000 สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กรได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในภาครัฐหรือเอกสาร องค์กรที่แสวงหากำไรหรือไม่แสวงหากำไร รวมถึงในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ การศึกษา สาธารณสุข ขนส่ง หรืออื่น ๆ นอกจากนั้น ยังสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนาด้วย

ในมาตรฐาน ISO 26000 ได้ให้ความหมายของคำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ว่าเป็นความรับผิดชอบขององค์กร ในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร (รวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการ) ที่มีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการแสดงออกอย่างโปร่งใสและมีจริยธรรม ในการ

          มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างสุขอนามัย และสวัสดิการที่ดีกับสังคม

          คำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

          ปฏิบัติตามข้อกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล

          บูรณาการให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ภายใต้ของเขตของอิทธิพล และผลกระทบ (Sphere of Influence)

ประโยชน์ของความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีต่อองค์กร

ในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นกับองค์กร จะช่วยให้เกิดประโยชน์มากมายกับองค์กร อาทิ

          ส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจบนพื้นฐานของความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความคาดหวังของสังคม เพิ่มโอกาส และลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม

          ช่วยในการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงขององค์กร

          สร้างชื่อเสียงขององค์กร และส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจจากสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

          สร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในองค์กร

          ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และคู่ความร่วมมือที่ต้องการ

          ปรับปรุงความสัมพันธ์ขององค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย ช่วยสร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้กับองค์กร และการติดต่อกับผู้มีส่วนได้เสียที่แตกต่างกันไป

          สร้างความภักดี การมีส่วนร่วม และขวัญกำลังใจ รวมถึงการสร้างความปลอดภัย และสุขอนามัยที่ดีให้กับพนักงาน

          ส่งผลในทางบวกให้กับขีดความสามารถขององค์กร ในการสรรหา จูงใจและรักษาพนักงานขององค์กร

          ช่วยให้เกิดการประหยัดจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร การใช้พลังงาน และน้ำที่ลดลง รวมถึงปริมาณของของเสียที่ลดลง

          ปรับปรุงความน่าเชื่อถือ และความเป็นธรรมของธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปฏิเสธการคอรัปชั่น

          ป้องกัน หรือลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ หรือบริการ

องค์ประกอบของมาตรฐาน ISO 26000

รูปที่ 1 แสดงภาพรวมของมาตรฐาน ISO 26000

ในรูปที่ 1 จะแสดงถึงองค์ประกอบ การเชื่อมโยงระหว่างกันของมาตรฐาน ISO 26000 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร จากองค์ประกอบต่าง ๆ ของมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งจะช่วยองค์กรในการทำความเข้าใจถึงแนวทางในการนำมาตรฐานนี้ไปใช้งาน โดย

ภายหลังจากการพิจารณาถึงคุณลักษณะของความรับผิดชอบต่อสังคม และความสัมพันธ์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว องค์กรควรจะมีการทบทวนถึงหลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในทางปฏิบัติ จะต้องเกิดการยอมรับและเห็นคุณค่าของความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงกำหนดหลักการพื้นฐานการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการที่ระบุไว้ในแต่ละหัวข้อหลัก

ก่อนที่จะทำการวิเคราะห์ถึงหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ ทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการดำเนินการและความคาดหวังที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น องค์กรควรจะมีการพิจารณาถึงแนวปฏิบัติพื้นฐาน 2 ประการของความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การยอมรับและเห็นคุณค่าของความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้ขอบเขตอิทธิพลและผลกระทบขององค์กร รวมถึงการระบุและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร

เมื่อมีการทำความเข้าใจในหลักการพื้นฐาน ขั้นตอนถัดไป จะเป็นการระบุถึงหัวข้อหลัก รวมถึงประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรควรจะมีการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับการตัดสินใจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร โดยแนวปฏิบัตินี้ จะประกอบด้วย การกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนโยบาย วัฒนธรรมองค์กร กลยุทธ์และการปฏิบัติกร การสร้างความสามารถภายในสำหรับความรับผิดชอบต่อสังคม การสื่อสารด้านความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร และการทบทวนการดำเนินการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสม่ำเสมอ

โครงสร้างข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 26000

ในมาตราฐาน ISO 26000 จะแบ่งออกเป็น 7 หมวดที่สำคัญ กับอีก 2 ภาคผนวก ประกอบด้วย

1. ขอบเขต จะอธิบายถึงขอบเขต และข้อจำกัด รวมถึงการยกเว้นต่าง ๆ ของมาตรฐาน ISO 26000

2. คำศัพท์และความหมาย จะอธิบายถึงความหมายของคำศัพท์ที่สำคัญที่ระบุไว้ในมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

3. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม จะอธิบายถึงปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในองค์กร รวมถึงอธิบายถึงแนวคิดหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม และการนำไปประยุกต์ใช้

4. หลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม จะอธิบายถึงหลักการพื้นฐานที่สำคัญทั้ง 7 หลักการของความรับผิดชอบต่อสังคม

5. การยอมรับต่อความรับผิดชอบต่อสังคม และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย จะอธิบายถึงแนวปฏิบัติพื้นฐาน 2 ประการของความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การเห็นคุณค่าและยอมรับในความรับผิดชอบต่อสังคม และการชี้บ่งและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยจะอธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคม

6. หัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม จะอธิบายถึงหัวข้อหลัก และประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องในแต่ละหัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในแต่ละหัวข้อหลัก จะระบุถึงขอบเขต ความสัมพันธ์ที่มีต่อความรับผิดชอบต่อสังคม หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินการ และความคาดหวังของแต่ละประเด็นสำคัญ

7. การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร จะอธิบายถึงการนำความรับผิดชอบต่อสังคมไปสู่การปฏิบัติภายในองค์กร ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างความเข้าใจ การนำไปปฏิบัติ การสื่อสาร การปรับปรุงความน่าเชื่อถือ การทบทวนและปรับปรุง และการสร้างกลุ่มจิตอาสาสำหรับความรับผิดชอบต่อสังคม

ภาคผนวก A ตัวอย่างของกลุ่มจิตอาสา และเครื่องมือสำหรับความรับผิดชอบต่อสังคม จะแสดงถึงรายชื่อของกลุ่มริเริ่มงานด้านจิตอาสา และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการเชื่อมโยงเข้ากับหัวข้อหลัก และขั้นตอนของการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร โดยมีทั้งประเภทที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายประเภทอุตสาหกรรม และที่นำไปใช้เฉพาะประเภทอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้าง เคมี อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ภาคผนวก B คำย่อ จะแสดงถึงคำย่อ และคำเต็มที่ใช้ในมาตรฐาน ISO 26000

หลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม

องค์ประกอบหลักที่สำคัญ ในกลุ่มแรกของมาตรฐาน ISO 26000 คือหลักการพื้นฐาน (Principle) ของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเป็นแนวทางพื้นฐานที่สำคัญสำหรับหัวข้อหลักสำหรับการดำเนินการ และขั้นตอนการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร โดยหลักการพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 7 หลักการ จะประกอบด้วย

1. ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) โดยองค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้กับผลกระทบที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

2. ความโปร่งใส (Transparency) โดยองค์กรจะต้องมีความโปร่งใสในการตัดสินใจ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ที่มีผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

3. การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behavior) โดยองค์กรจะต้องมีการดำเนินการอย่างมีจริยธรรม

4. การคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for Stakeholder Interests) โดยองค์กรจะต้องยอมรับ พิจารณา และตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย

5. การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law) โดยองค์กรจะต้องยอมรับว่าการเคารพต่อหลักนิติธรรม เป็นข้อบังคับที่สำคัญอย่างมาก

6. การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล (Respect for International Norms of Behaviour) โดยองค์กรจะต้องให้การยอมรับต่อแนวปฏิบัติสากล ในขณะที่ต้องยึดมั่นในหลักการของการเคารพต่อหลักนิติธรรมด้วย

7. การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Right) โดยองค์กรจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และยอมรับถึงความสำคัญ และความเป็นสากลของหลักการนี้

หัวข้อหลักและประเด็นสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม

รูปที่ 2 แสดงหัวข้อหลัก (Core Subjects) ของความรับผิดชอบต่อสังคม

ในส่วนของหัวข้อหลัก (Core Subjects) จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญของแต่ละหัวข้อ ที่อธิบายถึงแนวความคิดของแต่ละประเด็น รวมถึงการดำเนินการและความคาดหวังที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้องค์กร ได้เข้าใจชัดเจนขึ้นถึงสิ่งที่ควรจะทำ โดยหัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม จะประกอบด้วย

1. การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Organizational Governance)

2. สิทธิมนุษยชน (Human Rights) จะประกอบด้วนประเด็นสำคัญ ได้แก่ การตรวจสอบสถานะขององค์กร สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การหลีกเลี่ยงการสมรู้ร่วมคิด การแก้ไขข้อขัดแย้ง การเลือกปฏิบัติ และกลุ่มที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ สิทธิการเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน

3. ข้อปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และการปกป้องทางสังคม การสานเสวนาทางสังคม สุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และ การพัฒนาบุคคลและการฝึกอบบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน

4. การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ การป้องกันมลภาวะ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติ

5. การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair Operating Practices) จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ การต่อต้านการคอรัปชั่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่คุณค่า และการเคารพต่อสิทธิทรัพย์สิน

6. ความใส่ใจต่อผู้บริโภค (Consumer Issues) จะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ การตลาดอย่างเป็นธรรม สารสนเทศที่เป็นข้อเท็จจริงและไม่อคติและข้อปฏิบัติตามสัญญาที่เป็นธรรม การปกป้องดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค การบริโภคอย่างยั่งยืน การบริการ การสนับสนุน และการแก้ไขข้อร้องเรียนและข้อพิพาทจากผู้บริโภค การปกป้องข้อมูลและการรักษาความเป็นส่วนตัวขอ

aphondaworathan