http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

ปฏิบัติการอิมแพ็ค

บทความ

ปฏิบัติการอิมแพ็ค

ทุกตารางนิ้วบนพื้นที่กว่า3 แสนตารางเมตร ของ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านการออกแบบให้ใช้ "พลังงาน" อย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับงานแสดงมากกว่า 800 งานต่อปี และต้อนรับผู้เที่ยวชมงานมากถึง 15 ล้านคนต่อปี ถือเป็นพันธกิจสำคัญของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมแห่งนี้เริ่มต้นด้วยปฏิบัติการ"ค้นหา" ต้นตอของพลังงานหลักที่ใช้ภายในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค จากการสำรวจย้อนหลัง 3 ปีสถิติค่าพลังงานไฟฟ้าสูงสุดมาจากระบบปรับอากาศ 80% รองลงมาคือระบบแสงสว่าง 20% ฉะนั้น ระบบปรับอากาศ จึงเป็นเป้าหมายอันดับแรกของปฏิบัติการลดพลังงาน

 : ลดใช้พลังงาน

          อิมแพ็คลงทุนสร้างหลังคาสองชั้นเพื่อป้องกันความร้อน และติดฉนวนกันความร้อน สามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ 5-10 องศาเซลเซียส ต่อมาเปลี่ยนชุดบัลลาสต์เป็นแบบ Low Losses และลดขนาดหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ เป็น 30 วัตต์ รวม 1,530 ชุด ที่บริเวณอาคารจอดรถในร่ม จึงลดใช้พลังงานได้อีกประมาณ 45,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี แต่ยังไม่พอสำหรับศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่ระดับเอเชีย เมื่อพบว่าปี 2553 อัตราพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 2.27 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตร และเมื่อนำไปคิดกับค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 8 บาทต่อตารางเมตรซึ่งเป็นอัตราสูงมาก ทีมงานจึงมุ่งมาที่การจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพเริ่มที่การเปิดปิดเครื่องปรับอากาศ โดยตั้งเวลาเปิดเหมือนกันหมด จากเดิมที่เปิดล่วงหน้า 4 ชั่วโมง ยกตัวอย่าง วันแรกของการจัดงาน เจ้าหน้าที่จะเปิดเครื่องล่วงหน้า 3 ชั่วโมง วันถัดไปเหลือ 2 ชั่วโมง ส่วนวันปิดงานก็จะปิดเครื่องทำความเย็นก่อนเวลาปิดงานครึ่งชั่วโมง

          "วิธีนี้เท่ากับลดชั่วโมงการทำงานของระบบปรับอากาศ ก่อนเวลาเริ่มงานแสดงจากเดิมวันแรก 4 ชั่วโมงเหลือ 3  ชั่วโมง จากประสบการณ์พิสูจน์แล้วว่าช่วยลดค่าใช้จ่าย 7,600 บาทต่อครั้ง" กุลวดี จินตวร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าว

 : เปลี่ยนวิธีควบคุม

          อิมแพ็คยังปรับปรุงและซ่อมบำรุงเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มอุณหภูมิน้ำของเครื่องทำน้ำเย็นจาก 45 องศาฟาเรนไฮต์เป็น 47 องศาฟาเรนไฮต์ในช่วงฤดูหนาว ลดการเปิดไฟที่อยู่ใกล้กับกระจกและบริเวณทางเดินในช่วงวันจัดเตรียมงานแสดง ปรับความเร็วรอบของเครื่อง AHU โดยใช้อุณหภูมิควบคุมวงจรการเปิด-ปิด ไฟฟ้าแสงสว่างให้เป็นแบบ 1:1 หมายความว่าจะต้องติดตั้งปลั๊กเปิด-ปิดไฟดวงต่อดวง พร้อมกันนี้ได้ติดตั้ง Peak Demandหรือระบบควบคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้าของทุกอาคารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          "ไฟฟ้ามันไม่เหมือนน้ำ ที่เราเปิดใช้แล้วรู้ได้ว่าใช้ไปแล้วกี่ลิตร  มันเป็นกระแสที่เข้าไปอยู่ในสายไฟต่างๆ วิธีนี้ทำให้เราสามารถดูการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ตลอดเวลา เพื่อนำมาคำนวณค่าไฟและบริหารจัดการ ไม่ให้เกินรอบของค่าไฟเดือนที่แล้ว ทำให้ค่าไฟของเราไม่มากและสามารถปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด" กุลวดีเล่าถึงขั้นตอน

         ขณะเดียวกันติดตั้งฉนวนหุ้มท่อนำความเย็น เพื่อลดการสูญเสียความเย็น ระหว่างการทำงานของระบบที่ส่งไปยังส่วนต่างๆ ของอาคาร ติดตั้งระบบระบายอากาศและตัวกรองอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองอากาศตามเกณฑ์มาตรฐาน

 : เปิดแนวคิด I AM 3R

          แผนลดการใช้พลังงานภายใต้แนวคิดรักษ์โลก I AM 3R ซึ่งประกอบด้วยInciteกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Avoidหลีกเลี่ยงแนวทางวัสดุและอุปกรณ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Modify ดัดแปลง และ 3R ได้แก่ Reduce ลดการใช้พลังงานและทรัพยากร Reuseใช้ซ้ำเพื่อลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยนำวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ซ้ำ เช่น เหล็กและป้ายงานประชุมต่างๆ รวมทั้งนำน้ำทิ้งที่เหลือจากขวดน้ำดื่มกลับมารดต้นไม้รอบพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 7 แสนบาทต่อปี 

          Recycle แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น โครงการแปลงขยะเป็นทองร่วมกับบริษัทวงษ์พาณิชย์ หรือนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาทำไบโอดีเซลสำหรับฝ่ายซ่อมบำรุง มีต้นทุนถูกกว่าน้ำมันดีเซลถึง 60%

          สำหรับผลที่ได้รับคือ อิมแพ็ค ลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 8 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญคือได้การรับรองด้านมาตรฐานระบบการจัดการด้านพลังงาน หรือ ISO 50001  ส่วนผลพลอยได้จากการประหยัดพลังงาน คือ เพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ที่เน้นเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นเอง

  ขอขอบคุณแหล่งที่มา

http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/425062

 

 

 

aphondaworathan