http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

วิชัย เบญจรงคกุล ฉีดสารเร่งCSR ปั้นนักธุรกิจในฝัน

 แม้ทุกวันนี้ จะเป็นข่าวครึกโครมหนาหู หากแต่ในโลกใบนี้ CSR นั้นยังถูกปกคลุมด้วยอิทธิพลของแรงเฉื่อยผลงานที่เกิดจริงไม่คืบหน้าสักเท่าไร

หนึ่งในสายเลือด "เบญจรงคกุล" ที่ก่อตั้งและขับเคลื่อนมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดซึ่งเป็นต้นแบบ CSR มานานเนิ่น "วิชัย เบญจรงคกุล" มองว่ามีความเร่งด่วนที่จะต้องฉีดสารที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา หรือ catalyst เพื่อทำให้ปฏิกิริยาจากที่เคยเดินอย่างเชื่องช้าเปลี่ยนเป็นวิ่งเพื่อให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น

"CSR ไม่ใช่เรื่องพีอาร์ แต่มันได้ในแง่การพีอาร์ เพราะ CSR ไม่ได้ทำเพื่อการทำพีอาร์หรือทำเพื่อหวังประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในเรื่องของกำไร  ขาดทุน เพราะมันไม่ใช่เลย"

วันนี้ในฐานะของประธาน (ครั้งแรก) โครงการมอบทุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา มูลนิธิยุทธสาร ณ นคร เพื่อสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) วิชัยจึงได้ผลักดันโครงการที่ชื่อ "สร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขกับ TMA" เพื่อสร้างดีเอ็นเอพลเมืองดีให้กับเยาวชนไทยที่กำลังจะพ้นรั้วการศึกษาออกไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวในอนาคต

"เป็นการกระตุ้นต่อมจิตสำนึกสาธารณะ เพราะไม่เช่นนั้นมันอาจจะตายด้านไปก็ได้  ไม่งั้นจะมีแต่ความคิดถึง "กู" เพียงอย่างเดียว ทำยังไงให้กูดี ทำยังไงให้กูรวย ทำยังไงให้กูได้  แต่โครงการนี้จะทำให้เยาวชนหวนคิดว่าแล้วกูต้องคิดถึงใครบ้าง"

"ทัศนคติ" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ CSR เกิดผลได้จริง  และควรจะเพาะบ่มทัศนคติที่ดีงามตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์  โบราณยังสอนไว้ "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก"

เพื่อพัฒนาแนวคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคม  หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) โครงการดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ทุกสถาบันการศึกษาสมัครเข้าร่วมเข้าแข่งขัน  โดยต้องเขียนแผนโครงการและลงพื้นที่ปฏิบัติจริง

ทั้งนี้โครงการมอบทุนการศึกษาฯ โดยมูลนิธิยุทธสาร ณ นคร เพื่อสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ในปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้ว ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้การสนับสนุนด้านการศึกษา ค้นคว้าและการวิจัยทางวิชาการ การจัดการเพื่อสาธารณประโยชน์ ในการที่จะมุ่งพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์สู่สังคม ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ

 

"ที่ผ่านมาโครงการนี้เน้นหนักเรื่องการเพิ่มศักยภาพเยาวชนในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ  และสร้างคนให้มีประสิทธิภาพและมีความสามารถ ก็เลยเป็นเรื่องการประกวดแผนธุรกิจ การต่อยอดแผนธุรกิจ แต่ปัจจุบันมีหลายสถาบันจัดแข่งขันแผนธุรกิจกันมากมาย คณะกรรมการ TMA เลยมาหารือกันว่าในปีนี้เราควรจะหาแง่มุมใหม่ที่เสริมกันจะดีกว่า นั่นคือ CSR"

นั่นหมายถึง การปลูกฝังความคิดให้เกิดความสมดุลระหว่างความมุ่งมั่นเพื่อเอาชนะเพื่อผลกำไร ขาดทุน  กับ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มองประโยชน์ส่วนรวม

วิชัยเล่าว่าจากประสบการณ์ที่เคยเป็นคณะกรรมการตัดสินแผนธุรกิจของเยาวชนมาหลายครั้งพบว่า ทุกแผนธุรกิจที่ถูกนำเสนอแม้มีความน่าสนใจแต่กลับมี  "มุมมืด" เนื่องจากแผนธุรกิจนั้นมาจากมุมคิดที่คำนึงแต่ "ผลได้" ขณะที่มองข้าม "ผลเสีย" คำนึงถึงแต่เม็ดเงินขณะที่ลืมคิดสงวนหรือใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า  ลืมคิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลืมคิดไปว่าแผนธุรกิจอาจจะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นหรือไม่ เป็นต้น

ดังนั้นสิ่งที่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับการปลูกฝังถึงการทำ CSR  ที่ให้คำนึงถึง ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวอย่างยั่งยืน

"เรื่อง CSR นั้นเป็นศิลปะ ที่คณะกรรมการจะไปชี้นำไม่ได้ เช่นจะไปบอกว่าควรจะทำอะไร  เช่น ทางด้านการศึกษา หรือ ด้านสุขภาวะ มันขึ้นอยู่กับ จิตสำนึกของเด็กๆ ว่าเขามองสังคมใกล้ตัวอย่างไร เขาเห็นความต้องการหรือเห็นถึงความขาดเหลืออะไรบ้าง  ซึ่งแต่ละสังคมชุมชนไม่เหมือนกัน"

เขาสำทับว่าโครงการนี้ไม่ใช่ฝึกทำให้เกิดอาชีพ CSR เพราะในโลกความจริงมันไม่มีอาชีพนี้  ไม่มีบริษัทไหนจะเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ที่วันๆ คิดโครงการว่าจะใช้เงินเพื่อสังคมอย่างไร

"CSR ในองค์กรทั่วๆ ไปจะมาจากการริเริ่มของคน  2 ส่วน คือพนักงานและผู้บริหาร  ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้การทำ CSR ขององค์กรเป็นเพราะถูก สังคมบังคับไม่งั้นจะโดนชี้หน้าว่ามีกำไรเป็นร้อยล้านหมื่นล้านทำไมไม่ทำ ทางกลับกันก็มีบางองค์กรที่มีใจอยากทำเอง  ขณะที่โครงการของเราจะปลูกฝังให้เด็กสวมวิญญาณของเจ้าของกิจการ คิดในมุมของผู้นำว่าควรคิดแผนงาน CSR อย่างไร เพราะการคิดแค่ใช้เงินนั้นมันง่าย ต้องคิดหาเงินด้วย"

อีกเคล็ดลับที่สำคัญก็คือ ต้องให้ทีมเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันได้มีโอกาสลงไปสัมผัสถึงความต้องการของคนและชุมชนใกล้ตัวด้วยตัวของเขาเอง  เพื่อให้เห็นภาพที่แท้จริงและตกผลึกความคิดว่าจะสามารถพัฒนาสังคมได้อย่างไร

วิชัยบอกว่าความสำเร็จในการทำ CSR ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงชั่วข้ามคืน ทำลงไปเปรี้ยงเดียวไม่จบ  ตรงกันข้ามมันต้องอาศัยระยะเวลาซึ่งในบางเรื่อง ราวอาจยาวนานเรียกว่าจนแทบอดใจรอคอยไม่ได้

"เราพิจารณาว่าแผนของเด็กจะมีความยั่งยืนอย่างไร โอเคโครงการจบไปแล้วแต่โครงการยังสามารถอยู่ต่อเดินต่อไปได้หรือไม่ ถ้าได้มันจะเกิดอรรถรสมากเลย   มันขึ้นอยู่กับว่าเด็กทำให้คนอื่น Buy-In ความคิดหรืออยากเข้ามามีส่วนร่วมได้หรือไม่  CSRจะสำเร็จได้เพราะความร่วมมือ"

เขาบอกว่าโครงการนี้ไม่ได้หวังมากเพราะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก คงไม่สามารถปั้นฮีโร่หรือซูเปอร์ฮีโร่ได้ทันควัน แต่อย่างน้อยก็ให้เยาวชนที่เข้าร่วมในปีนี้ได้มาสัมผัสเพื่อที่ปีหน้าอาจจะขอกลับมาแข่งใหม่ หรือไปสอนให้น้องๆ  ที่จะได้เป็นตัวแทนเข้ามาแข่งขัน

ปีนี้อาจ impossible เปรียบเหมือนการปรุงอาหารในปีนี้อาจทำได้แค่ทำให้หน้าตาออกมาดูดี แต่ก็หวังว่าในปีหน้าเด็กๆ จะมาแก้มือปรุงอาหารให้ได้เจ๋งทั้งหน้าตาและรสชาติ

แต่อย่างน้อยมันก็เป็นการฉีดสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกดีๆ ท่ามกลางสังคมที่จะมีความเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้นทุกวัน  วิชัยบอกว่าบางทีสังคมที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เป็นเพราะคนใจร้ายใจดำ เพราะมีถมไปที่คนดีโดนต้มโดนหลอก  ซองกฐินปลอม พระปลอม ขอทานปลอม อะไรก็ปลอมกระทั่งคนดี

อย่างไรก็ตามจิตสำนึกดีๆ ไม่ใช่เรื่องยากไม่ใช่ต้องมีเงินเท่านั้นถึงจะทำได้ เพียง คิดดี ทำดี  ไม่มีแรงเงินก็ช่วยด้วยแรงกายก็ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นเยอะ

และโครงการนี้จะช่วยสร้างต้นแบบนักธุรกิจและทรัพยากรบุคคลรุ่นใหม่ที่มีค่านิยม (Core Value) และแนวคิดในการประกอบอาชีพอย่างซื่อสัตย์ มีจริยธรรม คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการให้การสนับสนุนชุมชนเพื่อความผาสุกของสังคมโดยรวมคือต้นแบบนักธุรกิจในฝันศตวรรษที่ 21 ที่วิชัย เบญจรงคกุล ตั้งความหวัง

 

ที่มา:ชนิตา ภระมรทัตกรุงเทพธุรกิจออนไลน์   5 ส.ค. 2553

 

aphondaworathan