http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา
ข่าว CSR

9 แนวทางทำ CSR in-process "ยิ่งทำ ธุรกิจยิ่งเติบโต" โดย รศ.ทองทิพภา

9 แนวทางทำ CSR –in-process “ยิ่งทำ ธุรกิจยิ่งเติบโต” โดย รศ.ทองทิพภา
          
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลการศึกษาวิจัย เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) ของธุรกิจ SMEs โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นกรณีศึกษาว่า ธุรกิจ SMEs มีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) หรือไม่ อย่างไร และในการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) SMEs มีปัญหา หรืออุปสรรคใดบ้าง เพื่อนำผลที่ได้รับมาใช้เป็นข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมให้ SMEs มีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) อย่างกว้างขวาง
       รองศาสตราจารย์ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ประธาน CSR-พอเพียง ม.หอการค้าไทย กล่าวว่ากลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนั้น ผู้วิจัยได้ศึกษาธุรกิจ SMEs จำนวน 2 ราย คือ บริษัทอำพลฟูดส์ โปรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิต จำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ กะทิชาวเกาะ น้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทย และบริษัท แดรี่โฮม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิกส์ และผู้วิจัยยังทำการวิจัยธุรกิจ SMEs ทั่วไปที่เคยเข้ารับการอบรมจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จำนวน 85 ราย โดยผู้วิจัยได้นำคู่มือแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ตามมาตรฐาน ISO 26000 ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม การต่อต้านคอร์รัปชัน การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การพัฒนาชุมชนและสังคม การจัดการสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม มาใช้เป็นกรอบคำถามหลัก และจัดทำคำถามในรายด้านให้เหมาะสมกับสภาพของธุรกิจ SMEs
ชี้ชัด ผู้บริหาร-พนักงาน ขาดการสื่อสาร ทำความเข้าใจ
       จากผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) อยู่ในระดับมาก และมากที่สุด
       อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารและพนักงานในกลุ่มตัวอย่างยังไม่มีการสื่อสารว่า สิ่งที่ได้ปฏิบัติอยู่นั้น เป็น CSR-in-process ทำให้ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติ CSR-in-process สูงสุด เนื่องจากในการนำเสนอ หรือการสื่อสาร จะมุ่งถ่ายทอดเรื่องราวกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่าการ
       นำเสนอการปฏิบัติ CSR ในกระบวนการทำงาน ซึ่งแท้จริงแล้ว ความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคหรือผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า เพราะจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของธุรกิจโดยตรง
       “ปัญหาและอุปสรรคของ SMEs โดยทั่วไป คือ การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) ที่ถูกต้อง ทำให้ผู้บริหาร/พนักงานไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องทำ CSR-in-process ซึ่งคนที่ไม่เข้าใจก็มักจะคิดว่า การปฏิบัติด้าน CSR เป็นกิจกรรมที่สิ้นเปลือง เพราะต้องใช้เงิน ดังนั้น เจ้าของกิจการ/ผู้บริหารจึงควรมีนโยบายส่งเสริมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) อย่างเป็นรูปธรรม มีการสื่อสารกับพนักงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน จะได้เกิดการปฏิบัติ CSR-in-process ทั้งองค์กร ยิ่งถ้ามีมาตรการสนับสนุนจูงใจจากภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย การปฏิบัติ CSR-in-process ก็จะยิ่งความก้าวหน้ามาก” 
9 แนวทาง CSR-in-process
       รศ. ทองทิพภา กล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งนี้นำไปสู่คำแนะนำ 9 แนวทางในการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) ดังนี้
       1.เสริมสร้างความรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process) เช่น ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ผลิตสินค้าคุณภาพ ให้การบริการที่ดีก่อน/หลังการขาย ดูแลพนักงาน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไปพร้อมๆ กับมีความรับผิดชอบต่อสังคมนอกกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) หรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น กิจกรรมทางศาสนา การกุศล ปลูกป่า ฯลฯ
       2.สร้างค่านิยมด้านการมีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process) ให้แก่ผู้บริหาร พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้มีการปฏิบัติ CSR-in-process ในเนื้องาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร เป็น DNA ของคนในองค์กรที่มุ่งเน้นทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ “อย่าทำ CSR ให้เป็นงาน แต่ทำงานให้มี CSR”
       3.กำหนดนโยบายส่งเสริมการปฏิบัติ CSR-in-process อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม เช่น จัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี เพื่อความโปร่งใส ทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่ผู้มีส่วนได้เสีย มีการแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดจากการประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็ว ฯลฯ
       4.สื่อสารกับพนักงานในองค์กรทุกระดับ เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน เช่น สื่อสารถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process) เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากลูกค้า/ผู้บริโภค สังคม ฯลฯ
       5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการปฏิบัติ CSR-in-process ทุกขั้นตอน มีการบูรณาการความร่วมมือทั่วทั้งองค์กร จะได้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำ การทำงานจะได้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด
       6.สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติ CSR-in-process เช่น ให้รางวัล/ยกย่องชมเชย ฯลฯ
       7.ส่งเสริมการปฏิบัติ CSR นอกกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) เพื่อเสริมสร้างสังคมที่เป็นสุข และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทุกภาคส่วนของสังคมจะได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน เช่น กิจกรรมการกุศลต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมช่วยเหลือภัยพิบัติ ฯลฯ
       8.ประเมินผลการปฏิบัติ CSR-in-process เพื่อวัดมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่ม เช่น ยอดขาย/กำไรที่เพิ่มขึ้นภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น พนักงานภาคภูมิใจในผลงาน/องค์กร ฯลฯ
       9.สื่อสารข้อมูลการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง เพื่อสร้างการรับรู้ และความน่าเชื่อถือของธุรกิจ SMEs เช่น จัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) ฉบับ SMEs เพื่อใช้เป็นข้อมูลของบริษัท (Portfolio) ฯลฯ
       “ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะกับนักธุรกิจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องสำคัญของประชาชนชาวไทยทุกคน เพราะทำให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข โดยทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของตัวเอง ทำงานตามหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด 
       สำหรับเรื่องของ CSR-in-process หรือความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำงาน อยากให้ทุกคนระลึกถึงว่า ทำอย่างไรจึงจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แล้วส่งต่องานที่ดีให้กับผู้อื่น แค่นี้ก็เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” รศ. ทองทิพภา กล่าวในที่สุด 

aphondaworathan