http://www.csrcom.com/
True ปลูกปัญญา

เหล็กสยามยามาโตะ โครงการ “รวมใจรักษ์หาด คืนธรรมชาติสู่ท้องทะเล”


ชื่อโครงการ : เหล็กสยามยามาโตะ โครงการ “รวมใจรักษ์หาด คืนธรรมชาติสู่ท้องทะเล”
ชื่อองค์กร : บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด
เกี่ยวกับองค์กร : (ออกข่าวโดย บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด : บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์)
เว็บไซต์ :
รูปแบบโดยย่อ :
“ความยั่งยืน” สำหรับบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กเอชบีม ไวด์แฟลงก์ มากว่า 20 ปี ไม่ได้หมายความเพียงการดำเนินธุรกิจที่มุ่งการเติบโตขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกอย่างยั่งยืนด้วย
รายละเอียด :

“ความยั่งยืน” สำหรับบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กเอชบีม ไวด์แฟลงก์ มากว่า 20 ปี ไม่ได้หมายความเพียงการดำเนินธุรกิจที่มุ่งการเติบโตขององค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกอย่างยั่งยืนด้วย

โครงการ “รวมใจรักษ์หาด คืนธรรมชาติสู่ท้องทะเล” นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อสังคมที่ SYS ให้ความสำคัญ โดยสานพลังกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าความอุดมสมบูรณ์นั้นต้องเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว ดร.เภา บุญเยี่ยม ผู้จัดการสายงานรัฐกิจและชุมชนสัมพันธ์ กล่าวว่า กิจกรรมเพื่อสังคมของ SYS นั้นจะมุ่งให้ความสำคัญใน 3 ด้าน เรียกสั้นๆ ว่า 3E ประกอบด้วย Education การส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคน Economy การสร้างรายได้ให้กับชุมชน และ Environment การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากพิจารณาเผินๆ ดูเหมือนว่าโครงการรวมใจรักษ์หาด คืนธรรมชาติสู่ท้องทะเล จะมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงแล้วโครงการนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการศึกษา ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ครบทั้ง 3E สำหรับที่มาของโครงการรวมใจรักษ์หาด คืนธรรมชาติสู่ท้องทะเลนั้น ดร.เภา เล่าว่า SYS ได้เข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนตลอดแนวชายฝั่งทะเลอำเภอเมืองถึงอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเดียวกันกับที่ตั้งของโรงงาน SYS พบว่าการทำประมงเป็นอาชีพหลัก มีการรวมตัวเป็นกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านย่อยๆ ถึง 10 กลุ่ม และทั้ง 10 กลุ่มได้รวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนชมรมกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน

ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันอนุรักษ์ทะเลในเชิงของภูมิปัญญาชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมในอีกหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการอนุรักษ์ทะเลและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้มากขึ้น SYS ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน จึงได้ริเริ่มทำโครงการ “รวมใจรักษ์หาด คืนธรรมชาติสู่ท้องทะเล” ขึ้น โดยครั้งแรกจัดในเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านหนองแฟบ และมีเป้าหมายที่จะจัดเดือนละครั้ง ตลอดปี 2561 รวม 12 ครั้ง โดยเวียนไปจัดยังกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านทั้ง 10 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านก้นปึกสามัคคี กลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด กลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดา กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กแสงเงิน กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านปากคลองตากวน กลุ่มประมงพื้นบ้านตากวนอ่าวประดู่ กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านหนองแฟบ กลุ่มประมงเรือเล็กบ้านพยูน กลุ่มประมงเรือเล็กหาดพลา บ้านพลา และกลุ่มประมงเรือเล็กพลาอู่ตะเภาสามัคคี “กิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการสนับสนุนงบประมาณในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ในกลุ่มสัตว์เศรษฐกิจตามความต้องการของกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อาทิ ปลากะพงขาว กุ้ง ปู และหอยหวาน ซึ่งสามารถเติบโตได้ดีตามแนวชายฝั่ง หลังจากนั้นจะนำพันธุ์สัตว์ดังกล่าวมาปล่อยในโครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเล ซึ่งตลอดโครงการ 12 ครั้ง คาดว่าจะสามารถปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทุกชนิดรวมกันประมาณ 2,000,000 ตัว นอกจากนี้ ยังมีการ สร้างบ้านปลาและซังเชือก ด้วยวัสดุที่ทนทานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมทั้ง ทำความสะอาดชายหาด เพื่อคืนความสวยงามให้ชายหาดด้วย” ดร.เภา กล่าว

เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามนโยบายที่ SYS วางไว้ โครงการนี้จึงไม่ได้ปล่อยสัตว์น้ำลงในทะเลอย่างไร้ทิศทาง แต่ได้ใช้พื้นที่อนุรักษ์ของกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านให้เป็นประโยชน์ ด้วยการปล่อยลงในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งชุมชนกำหนดให้เป็นโซนปลอดภัย ห้ามจับสัตว์ในรัศมี 1 ไมล์ทะเล เพื่อให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสขยายพันธุ์จนเกิดความอุดมสมบูรณ์และขยายออกไปนอกโซน จึงจะสามารถจับได้ ซึ่งการจัดโครงการขึ้นในกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านทั้ง 10 กลุ่ม จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ขยายออกไปเป็นวงกว้าง ตอบโจทย์เรื่อง E-Environment และผลลัพธ์จากความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ยังทำให้ชุมชนจับสัตว์น้ำไปขายได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องของ E-Economy ดร.เภา กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายซึ่งนับเป็นการสานพลังชุมชนครั้งสำคัญเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นกรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการที่ได้มาเสริมความรู้กับกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความร่วมมือจากสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โรงงานอุตสากรรม คนในชุมชน ตลอดจนพนักงานของ SYS ซึ่งเรามีกิจกรรม CSR Birthday ให้พนักงานที่มีวันเกิดตรงกับเดือนที่จัดโครงการไปทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสาธารณะ และรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ในการนำนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชนมาฝึกปฏิบัติ เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงและวงจรชีวิตสัตว์น้ำ ซึ่ง SYS ได้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทุกครั้งหลังจบกิจกรรม โดยให้น้องๆ กลับไปนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ เพื่อส่งกลับมาชิงทุนการศึกษาต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเยาวชนของชาติที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ตอบโจทย์ในเรื่องของ E-Education การจัดโครงการครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2561 ได้ผลตอบรับที่ดีมาก ทั้งในแง่ของความร่วมมือและทัศนคติต่อโครงการในเชิงบวก ซึ่งประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้านอำเภอเมืองระยองและอำเภอบ้านฉาง ได้ให้ความเห็นว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เป็นการอนุรักษ์แบบครบวงจร และสร้างความตื่นตัวให้กับทุกฝ่ายที่จะมาสร้างพลังในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนของโครงการนี้ไม่ได้จบลงที่การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างบ้านปลา ปรับปรุงชายหาด และให้ความรู้กับเยาวชนเพียงเท่านั้น แต่ SYS ยังมีแผนงานและเป้าหมายที่จะทำต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งการประเมินผลโครงการ โดยการสำรวจความสมบูรณ์ของท้องทะเล การวัดผลเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งแผนความต่อเนื่องของโครงการ ในระยะ 3 - 5 ปี เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกและความยั่งยืนในระยะยาวตามที่ตั้งใจไว้

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
อุษณีย์ ถาวรกาญจน์ 
โทร. 0 2354 3588, 081 984 5500
Email: usanee@incom.co.th
www.incom.co.th 

24-02-2018 22:21

aphondaworathan